วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

อำนาจ หน้าที่ ของอนุญาโตตุลาการ

Power , duty , of an arbitrator



นาย ธีรพงษ์ เพาะพูล

นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม รุ่นที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บทคัดย่อ

มุมมองของนักกฎหมาย ในการทำหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากอนุญาโตตุลาการต้องใช้ความรู้ความสามารถใทางวิชาชีพอันมิใช่นักกฎหมายเพียงด้านเดียว เพราะข้อพิพาทที่ต้องใช้อนุญาโตตุลาการนั้นเป็นข้อสัญญาในทางแพ่งพาณิชย์ที่ไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อย เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน ตามสาขาวิชาชีพ ที่กล่าวถึงทั้งหมดเป็นเรื่องที่นักกฎหมาย หรือผู้พิพากษาให้แนวคิดไว้ และเป็นแนวทางปฏิบัติของศาลกับสัญญาอนุญาโตตุลาการ รวมถึงการใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการในการคุมครองชั่วคราว

Abstract

The view point of a lawyer in performing of an arbitrator because arbitrator must use ability knowledge in the sense of vocation not a lawyer just one-sided because the dispute where must use that arbitrator is the obligation in the sense of civil the commerce that doesn't contrary to the peace such as contract of sale , the contract builds which view different point follow living field at mention all get into trouble at a lawyer or the judge gives the idea keeps and in rows the way ministers of the court with promises an arbitrator include using promises an arbitrator in the supervision puts on temporary.

Keyword: อนุญาโตตุลาการ หน้าที่ของอนุญาโตตุลาการ การระงับข้อพิพาท สัญญาอนุญาโตตุลาการ

1. บทนำ
การอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) เป็นวิธีระงับข้อพิพาทซึ่งคู่พิพาทตกลงกันตั้งบุคคลที่สาม ซึ่งเรียกว่า อนุญาโตตุลาการ ขึ้นมาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างกัน และเมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดอย่างใดแล้วย่อมผูกพันให้คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นในทางวิศวกรรมก่อสร้าง ในปัจจุบันสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งโครงการขนาดใหญ่ และโครงการขนาดเล็ก ทั้งเป็นการร่วมกันลงทุนกับต่างชาติ และทุนโดยเจ้าของคนเดียว ทั้งเกิดโดยผลแห่งผลแห่งสัญญาก่อสร้าง และสัญญาทางการค้า ดังนั้นวิศวกรจึงต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาก่อสร้าง และวิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ

2. อำนาจ หน้าที่ ของอนุญาโตตุลาการ
หน้าที่ของอนุญาโตตุลาการ
อดีตประธานศาลฎีกาได้ให้มุมมองของอนุญาโตตุลาการว่า เป็นการทำหน้าที่คล้ายผู้พิพากษา ในหลายประเทศที่มีระบบอนุญาโตตุลาการมานานแล้ว เช่นในสหรัฐอเมริกา มีประมวลจริยธรรมของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเรียกว่า Code of Ethic for Arbitration in Commercial Disputeซึ่งอนุญาโตตุลาการแตกต่างกับผู้พิพากษาทั้งในบทบาท หน้าที่ และฐานะ กล่าวคือ
ประการแรก อนุญาโตตุลาการอาจจะไม่ใช่นักกฎหมาย อาจจะไม่ใช่ข้าราชการหรือแม้จะเป็นข้าราชการที่มาทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการก็ไม่ได้มาทำหน้าที่ในฐานะเป็นข้าราชการ ซึ่งต่างจากผู้พิพากษาต้องเป็นนักกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ตัดสินคดี
ประการที่สอง อนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่ประกอบวิชาชีพหรืออาชีพอื่น และมีงานหลักประจำอยู่แล้ว การทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการจึงเป็นงานชั่วคราวเท่านั้น
ประการที่สาม ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญมากข้อหนึ่ง คือ อนุญาโตตุลาการจะเป็นผู้ที่คู่กรณีเลือกขึ้นมาให้ตัดสินข้อพิพาทของตน แต่คู่กรณีไม่สามารถเลือกผู้พิพากษาสำหรับตัดสินคดีของตนเองได้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างอนุญาโตตุลาการกับคู่กรณีนั้น ซึ่งต่างกับผู้พิพากษาจะไม่มีความสัมพันธ์กับคู่ความเลย
ประการที่สี่ ข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการตัดสินนั้นเป็นเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นอนุญาโตตุลาการไม่อาจจะชี้ขาดข้อพิพาทในทางอาญาได้ ข้อนี้ดูเหมือนจะไม่สำคัญนัก แต่ก็ทำให้เห็นขอบเขตการทำงานของอนุญาโตตุลาการว่าแตกต่างกับงานผู้พิพากษาอย่างไร
ประการที่ห้า การพิจารณาคดีของศาลต้องยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นหลักของการดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาและกฎหมายลักษณะพยานโดยเคร่งครัด การพิจารณาของศาลเน้นทั้งด้านความบริสุทธิ์และความยุติธรรม ส่วนงานของอนุญาโตตุลาการดูเหมือนจะเน้นเรื่องความรวดเร็ว ความเป็นกันเอง การรักษาความลับและยึดความเป็นธรรมเป็นจุดมุ่งหมาย จะไม่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายมากนัก
ประการสุดท้าย คือ คู่กรณีจะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่อนุญาโตตุลาการ ต่างกับผู้พิพากษาซึ่งรับเงินเดือนจากทางราชการ ข้อนี้ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มีผลต่อการวางตัวและการระมัดระวังของอนุญาโตตุลาการยิ่งกว่าผู้พิพากษามาก
เนื่องจากบทบาทและหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการแตกต่างกับผู้พิพากษาอยู่มาก ทั้งในด้านจุดมุ่งหมายและวิธีการตัดสินข้อพิพาท จึงไม่อาจจะนำจริยธรรมของผู้พิพากษามาใช้กับอนุญาโตตุลาการได้ทุกข้อ แต่เนื่องจากอนุญาโตตุลาการและผู้พิพากษาต่างก็มีหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี เพราะฉะนั้นจริยธรรมหลักบางประการของผู้พิพากษาก็น่าจะนำมาใช้กับอนุญาโตตุลาการได้เช่นกัน เช่นหลักในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต ความเป็นอิสระความเป็นกลาง ส่วนที่อนุญาโตตุลาการมีบทบาทและฐานะแตกต่างไปจากผู้พิพากษาก็ต้องมีหลักจริยธรรมบางประการเพิ่มเติมหรือผิดแผกออกไป เช่นอนุญาโตตุลาการจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามข้อตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการโดยเคร่งครัด อนุญาโตตุลาการต้องไม่เสนอตัวเป็นอนุญาโตตุลาการต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการติดต่อกับคู่กรณี ต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากข้อพิพาทหรือต้องไม่ต่อรองเกี่ยวกับค่าบริการหรือค่าใช้จ่าย เป็นต้น

การใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการในการคุ้มครองชั่วคราว
การคุ้มครองชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่กรณี มีความสำคัญมากในการใช้ในการอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือในการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการนั้นมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความร่วมมือของศาลเพื่อให้คู่กรณีมีการยอมรับในการบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ชนะคดีได้เสมอไป เพราะในช่วงระยะเวลาก่อนหรือระหว่างการดำเนินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ อาจมีเหตุฉุกเฉินที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจำเป็นต้องการขอให้คุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว เป็นต้นว่าให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์ที่พิพาทไว้ชั่วคราวเพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งยักย้ายถ่ายเททรัพย์ที่พิพาทนั้น ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายที่ชนะคดีไม่สามารถที่จะรักษาประโยชน์ของตนได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงการห้ามคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้กระทำการใดๆที่จะมีผลกระทบถึงข้อพิพาทนั้น ซึ่งจะทำให้ผลต่อการตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้การคุ้มครองชั่วคราวจึงมีความสำคัญ และจำเป็นในการเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเพื่อให้ดำเนินไปโดยสำเร็จและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
ในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวกฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองชั่วคราวในการอนุญาโตตุลาการ ได้กำหนดให้คู่สัญญาที่ได้ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการ สามารถจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งในการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อประโยชน์ของคู่กรณีได้ ซึ่งมีบทบัญญัติประการหนึ่งที่ให้อำนาจศาลในการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อเป็นการสนับสนุนในกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยหลักการแล้วการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตามคณะอนุญาโตตุลาการก็อาจจะมีอำนาจในการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวได้เช่นเดียวกับศาล ต่างกันที่ว่ามาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยคณะอนุญาโตตุลาการนั้นไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายได้ เนื่องจากอนุญาโตตุลาการมีสภาพเป็นเอกชน ไม่ใช่องค์ของรัฐที่มีอำนาจบังคับได้ด้วยตนเอง ดังนั้นมาตรการเพื่อการคุ้มครองชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการ จึงจำเป็นต้องได้รับการบังคับให้จากศาล
บทบัญญัติในการคุ้มครองชั่วคราว การอนุญาโตตุลาการ ตามนัยในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ได้บัญญัติไว้ว่า คู่สัญญาที่ได้ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้ อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตน ก่อนหรือขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้ ถ้าศาลเห็นว่ากระบวนการพิจารณานั้น หากเป็นการพิจารณาของศาลแล้วศาลทำให้ได้ ก็ให้ศาลจัดการให้ตามคำร้องนั้น ทั้งนี้ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการนั้นมาบังคับใช้โดยอนุโลมจากบทบัญญัติข้างต้น มีนักกฎหมายบางท่านตั้งข้อสังเกตไว้ว่า บทบาทของศาลในกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายไทย ซึ่งศาลมีอำนาจค่อนข้างมาก จึงเหมาะสำหรับการอนุญาโตตุลาการภายในประเทศ แต่ไม่เหมาะกับการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

ศาลกับการใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการ
อดีตประธานศาลอุทธรณ์ท่านหนึ่ง เคยกล่าวสรุปไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับบริหารงานยุติธรรมองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ประการหนึ่ง ในการเอื้ออำนวยให้มีการเจริญเติบโตทางพาณิชย์การอุตสาหกรรมและการลงทุน คือ การให้มีวิธีระงับข้อพิพาทที่รวดเร็ว ประหยัดและเป็นธรรม
ศาลและกระทรวงยุติธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างระบบการบริหารความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาพิพากษาโดยศาลยุติธรรม หรือการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการให้เป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของวงการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ทั้งภายในและระหว่างประเทศว่าเป็นระบบการบริหารงานยุติธรรมที่เป็นอิสระ มีศักดิ์ศรี มีประสิทธิภาพ และสามารถให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศโดยเสมอภาคกัน ซึ่งเคยมีนักวิชาการทาง
กฎหมายในประเทศอังกฤษเคยกล่าวไว้ว่า “เกือบจะเป็นสัจธรรมที่จะกล่าวว่าการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดีกว่าการฟ้องร้องต่อศาล การประนอมข้อพิพาทดีกว่าอนุญาโตตุลาการ และหากสามารถป้องกันมิให้มีข้อพิพาทเกิดขึ้นได้แล้วย่อมเป็นการดีที่สุด”
การที่คู่สัญญาเลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการนั้น มีเหตุผลหลายประการที่สำคัญสรุปได้ว่าคู่กรณีสามารถเลือกผู้เป็นอนุญาโตตุลาการ หรือเลือกผู้ตัดสินชี้ขาดได้ด้วยตนเองดังนั้นในคดีที่พิพาทกันในปัญหาเทคนิคเฉพาะสาขาวิชา ก็จะมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพนั้นๆเป็นอนุญาโตตุลาการ เช่น สถาปนิกหรือวิศวกร โดยปกติแล้วการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการพิจารณาลับ จึงเป็นประโยชน์แก่คู่กรณีในการที่จะรักษาความลับทางการค้า และสิ่งที่อาจจะสำคัญกว่า คือ คู่กรณีสามารถที่จะไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกได้ล่วงรู้ถึงการมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นได้
ในด้านความรวดเร็วและประสิทธิภาพ ข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสถาบันที่จัดการเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการว่ามีวิธีดำเนินการที่มีประสิทธิภาพเพียงใด ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของสถาบันนั้นมีความสมบูรณ์แค่ไหนสำหรับการอนุญาโตตุลาการ ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการย่อมเปรียบเสมือนกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในศาล สถาบันอนุญาโตตุลาการต่างๆก็ย่อมจะต้องมีข้อบังคับของตนเองได้ซึ่งแต่ละสถาบันจะต้องสั่งสมชื่อเสียง ความเชื่อถือและการยอมรับจากมหาชนโดยใช้การดำเนินงาน
ที่มีประสิทธิภาพ
ระบบอนุญาโตตุลาการของไทยนั้นเป็นการแบ่งเบาภาระของศาล และเป็นการมองในด้านการเสริมกำลัง มองในแง่ว่าอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการที่มาช่วยศาลในการแบ่งเบาภาระที่ศาลต้องรับอยู่แต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่เป็นการแย่งความสำคัญของการพิพากษาคดีไปจากศาล ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบอนุญาโตตุลาการที่สร้างขึ้นในประเทศไทย เป็นระบบอนุญาโตตุลาการที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของศาลยุติธรรม เป็นระบบที่ต้องพึ่งพาอาศัยศาลให้คอยประคับประคองทั้งในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาจนกระทั่งมีการชี้ขาด และหากคู่กรณีไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ต้องให้ศาลเป็นผู้บังคับคำชี้ขาดให้
เกี่ยวกับเรื่องอนุญาโตตุลาการ จึงถือว่าเป็นหน้าที่ของศาลภายใต้กฎหมายไทย คือพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.๒๕๔๕ ที่จะต้องช่วยส่งเสริมและคอยควบคุมดูแลระบบอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน้าที่หลักของศาลภายใต้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ
ซึ่งแบ่งได้ 3 ประการดังนี้
ประการแรก หน้าที่จะต้องจำหน่ายคดีเมื่อคู่กรณีมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างกัน กล่าวคือหากคู่กรณีฟ้องคดีต่อศาลเกี่ยวกับข้อพิพาทในสัญญา โดยไม่ได้ดำเนินการอนุญาโตตุลาการตามสัญญากันก่อน เมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้ใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการ ศาลก็จะต้องจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ในอันที่จะส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการ เพราะหากศาลไม่สั่งจำหน่ายคดีก็จะเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ และจะทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลใช้บังคับ
ประการที่สอง เป็นหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการหน้าที่ดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจศาลเกี่ยวกับการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อประโยชน์ของคู่กรณีในระหว่างพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ และการให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนอกจากนี้ศาลยังอาจสนับสนุนกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ โดยจะเป็นคนกลางชี้ขาดหรือตัดสินปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เช่น การขอให้ศาลแต่งตั้งและถอดถอนอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาด การขยายเวลาในการพิจารณา เป็นต้น
ประการสุดท้าย คือ หน้าที่ในการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หากคู่กรณีไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ฝ่ายที่จะขอให้มีการบังคับจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาด การที่จะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่นั้น ศาลจะต้องไต่สวนว่าคำชี้ขาดนั้นว่าชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทหรือไม่เป็นคำชี้ขาดที่เกิดจากการกระทำหรือวิธีการอันมิชอบหรือไม่ คำชี้ขาดนั้นอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำขอของคู่กรณีหรือไม่ ซึ่งอำนาจในการไต่สวนดังกล่าวทำให้ศาลเป็นผู้ควบคุมดูแลกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินไปโดยถูกต้องการไต่สวนของศาลจะต้องกระทำโดยด่วน และจะต้องพิจารณาว่าการดำเนินกระบวนการพิจารณาและคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ ถ้าหากไม่มีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องศาลก็จะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปวินิจฉัยถึงประเด็นข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดไปแล้ว และศาลต้องมีทัศนคติที่ดีต่อระบบอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะเป็นอนุญาโตตุลาการภายในประเทศหรืออนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ดังนั้นระบบการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ จึงมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน สถาบันศาลจะต้องให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการดูแลให้ระบบนี้เจริญก้าวหน้าเคียงคู่ศาลและเป็นผู้ช่วยของศาลในการระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์

3. สรุป
เพื่อให้วิศวกรวิชาชีพได้เข้าใจถึง แนวคิดของนักกฎหมาย หรือผู้พิพากษา เกี่ยวกับเรื่องสัญญาอนุญาโตตุลาการและวิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยนักกฎหมาย หรือผู้พิพากษา และ การคุ้มครองชั่วคราวตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ

กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนใคร่ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็บไซต์ และขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็ปไซด์กูเกิลล์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้า สืบค้นข้อมูลทางอิเลคทรอนิคส์ ถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเขียนบทความฉบับนี้ รวมถึงขอขอบพระคุณนักวิชาการในด้านกฎหมายเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการในงานวิศวกรรมที่มิได้เอ่ยนามมา ณ ที่นี้
ท้ายที่สุดนี้ขอขอบพระคุณ คณะอาจารย์ ผู้บริหารโครงการพิเศษ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้ให้โอกาสผู้เขียนในการศึกษาค้นคว้า เรื่องการอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับงานวิศวกรรม จึงทำให้เกิดเป็นบทความเรื่องนี้ขึ้น

เอกสารอ้างอิง

[1] สำนักงานระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม,2552. คู่มือการระงับข้อพิพาทสำหรับประชาชน. 9,500เล่ม. พิมพ์ครั้งที่5. นนทบุรี : เพชรรุ่งการพิมพ์.
[2] เรือเอก อานนท์ ไทยจำนง, 2548. ปัญหาและแนวทางการใช้
สัญญาอนุญาโตตุลาการเพื่อการระงับ/ยุติข้อพิพาทในงานก่อสร้าง กรณีสัญญาก่อสร้างงานราชการ.บัณฑิตศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
[3] มั่น ศรีเรือนทอง, 2541. อนุญาโตตุลาการสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและงานก่อสร้าง. วารสารโยธาสาร 10, 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2541) : 30-31.
[4] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 10 พฤศจิกายน 2552. อนุญาโตตุลาการ.http://th.wikipedia.org/wiki/อนุญาโตตุลาการ.

ประวัติผู้เขียน และผู้เขียนร่วม
นายธีรพงษ์ เพาะพูล
วศ.บ. (ไฟฟ้า) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศ

ผู้จัดการโครงการ บริษัทคิว ที ซีเอ็นจีเนียริ่ง จำกัด

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

การอนุญาโตตุลาการ (Arbitration)

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ
(1) อนุญาโตตุลาการคืออะไร?
อนุญาโตตุลาการ คือ วิธีการระงับข้อพิพาทที่คู่กรณีตกลงกันเสนอข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้บุคคลภายนอกซึ่งเรียกว่า อนุญาโตตุลาการ ทำการพิจารณาชี้ขาด โดยคู่กรณีผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
(2) อนุญาโตตุลาการมี่ประเภท?
อนุญาโตตุลาการ แบ่งได้หลายประเภท ดังนี้
1) อนุญาโตตุลาการในศาลกับอนุญาโตตุลาการนอกศาล
1.1) อนุญาโตตุลาการในศาล คือ กรณีที่คู่กรณีซึ่งมีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลตกลงกันให้มีอนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ โดยความเห็นชอบของศาล (มาตรา 210-220 และ 222 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง) แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเพราะเมื่อมีคดีขึ้นไปสู่ศาลแล้ว คู่ความมักไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมาช่วยชี้ขาดให้ แต่ต้องการให้ศาลตัดสินคดีนั้นมากกว่า
1.2) อนุญาโตตุลาการนอกศาล คือ กรณีที่คู่กรณีตกลงกันเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด โดยไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งอาจตกลงกันไว้ล่วงหน้าก่อนมีข้อพิพาทหรืออาจตกลงกันภายหลังจากที่มีข้อพิพาทแล้วก็ได้
การอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่ในนานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยนั้นเป็นการอนุญาโตตุลาการนอกศาล ซึ่งจะอยู่ภายใต้บังคับของ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
2) อนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจกับอนุญาโตตุลาการโดยสถาบัน
2.1) อนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ (Ad Hoc Arbitration) เป็นกรณีที่คู่พิพาทดำเนินการระงับข้อพิพาทตามวิธีอนุญาโตตุลาการด้วยตนเอง กล่าวคือ โดยตั้งอนุญาโตตุลาการและกำหนดวิธีพิจารณาต่างๆเอง และให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทของตน
2.2) อนุญาโตตุลาการโดยสถาบัน (Institutional Arbitration) เป็นกรณีที่คู่พิพาทตกลงระงับข้อพิพาทกันโดยใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งสถาบันดังกล่าวนี้อาจเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการโดยเฉพาะ สำหรับประเทศไทย เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการของสำนักงานศาลยุติธรรม สภาอนุญาโตตุลาการของหอการค้าแห่งประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศ เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าระหว่างประเทศ (International Chamber of Commerce - ICC) สมาคมอนุญาโตตุลาการของสหรัฐอเมริกา (American Arbitration Association - AAA) หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเฉพาะด้านที่ให้บริการกับสมาชิกและ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเทศไทย เช่น อนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาโตตุลาการของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ส่วนในต่างประเทศ เช่น อนุญาโตตุลาการของ NASD
3) อนุญาโตตุลาการในประเทศกับอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ
3.1) อนุญาโตตุลาการในประเทศ เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าคู่กรณีจะมีสัญชาติใด
3.2) อนุญาโตตุลาการต่างประเทศ เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการภายนอกประเทศ ไม่ว่าคู่กรณีจะมีสัญชาติใด

(3) ทำไมจึงต้องใช้หรือต้องมีกระบวนการอนุญาโตตุลาการ?
สาเหตุที่ต้องมีหรือใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการก็เนื่องมาจากเหตุผล ดังต่อไปนี้
1) ความรวดเร็ว
เนื่องจากการฟ้องคดีต่อศาลนั้นมีขั้นตอนมากและคู่ความยังสามารถอุทธรณ์ ฎีกาต่อไปได้ทำให้เสียเวลามาก แต่กระบวนการอนุญาโตตุลาการจะสิ้นสุดรวดเร็วและไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก
2) ความยุ่งยากและสลับซับซ้อนของคดี
เนื่องจากโดยปกติผู้ที่เป็นอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีเลือกมักจะเป็นผู้ที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทเป็นอย่างดี ทำให้เข้าใจเรื่องที่พิพาทและพยานหลักฐานต่างๆได้รวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้การชี้ขาดข้อพิพาททำได้รวดเร็วและยุติธรรม ในขณะที่ถ้าเป็นการดำเนินคดีในศาลคู่ความไม่สามารถเลือกผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆมาพิจารณาคดีให้ตนได้ ซึ่งก็ต้องมีการใช้พยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความ ทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างยากลำบากและล่าช้า และอาจมีปัญหาในการรับฟังพยานหลักฐาน เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่าพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความอธิบายได้ชัดเจนถูกต้องมากน้อยเพียงใด
3) การรักษาชื่อเสียงและความลับ
เนื่องจากหลักการพิจารณาคดีของศาลต้องทำโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าฟังการพิจารณาของศาลได้ สื่อมวลชนก็อาจรับฟังและนำเสนอข่าวได้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาพพจน์ทางธุรกิจและการรักษาความลับของคู่กรณี เว้นแต่ว่าจะมีการพิจารณาคดีเป็นการลับ ซึ่งก็จะมีเป็นบางคดีเท่านั้น แต่หลักการดำเนินกระบวนพิจารณาของการอนุญาโตตุลาการนั้นกระทำเป็นความลับ เฉพาะคู่กรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าร่วมการพิจารณา บุคคลภายนอกไม่มีโอกาสรู้ข้อเท็จจริงโดยตรง จึงไม่รู้ว่าคู่กรณีมีข้อพิพาทกันหรือไม่ หรือมีกันอย่างไร จึงเป็นการรักษาชื่อเสียงของคู่พิพาทและความลับทางธุรกิจของคู่กรณีได้เป็นอย่างดี
4) การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาท
เนื่องจากแนวทางการพิจารณาคดีของศาลนั้นเป็นการต่อสู้คดีกัน ทำให้คู่กรณีมีความรู้สึกเป็นศัตรูกัน อีกทั้งยังใช้เวลาต่อสู้กันยาวนาน เพราะคดีสามารถอุทธรณ์ ฎีกาต่อไปได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจ แต่กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นการระงับข้อพิพาทที่เปิดโอกาสให้คู่กรณีพบปะเจรจาปัญหาที่พิพาทกันโดยตรง บรรยากาศในการพิจารณามีลักษณะเป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียด อีกทั้งไม่มีระบบที่ให้คู่กรณีโต้แย้งเอาแพ้ชนะกัน จึงสามารถรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาทซึ่งอยู่ในวงการธุรกิจ ที่ส่วนใหญ่จะต้องคบค้าและประกอบธุรกิจกันต่อไปอีกในอนาคต
(4) กฎหมายอนุญาโตตุลาการกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
ในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมนั้นจะต้องนำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาใช้ด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เรื่อง การอนุญาโตตุลาการ ข้อ 2
2. ขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยวิธีอนุญาโตตุลาการของสมาคม
(1) ผู้มีสิทธิเสนอคำร้อง
ได้แก่ สมาชิกสมาคมและคู่พิพาทกับสมาชิก
(2) ข้อพิพาทที่สามารถเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ต้องเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายตราสารหนี้ระหว่างสมาชิก หรือสมาชิกกับลูกค้า
(3) วิธีการเสนอข้อพิพาท
ให้ยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาท (Statement of Claim) ต่อสมาคมตามแบบที่สมาคมกำหนด
(3.1) ในกรณีที่คำร้องไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจน สมาคมจะแจ้งให้ผู้ร้องแก้ไขให้เรียบร้อยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหรือควรได้รับการแจ้งจากสมาคม
(3.2) ในกรณีที่คำร้องถูกต้องครบถ้วน สมาคมจะส่งสำเนาคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปยังคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ยื่นคำคัดค้าน (Statement of Defence) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาท
(4) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediation)
ในกรณีที่มีคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการคนใดคนหนึ่งของสมาคม ก่อนเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการ สมาคมจะมีหนังสือแจ้งให้คู่พิพาทอีกฝ่ายทราบเพื่อให้ตอบรับภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสมาคม
- หากคู่พิพาทไม่ตอบรับภายในเวลาที่กำหนด สมาคมจะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป
- หากตอบรับกลับมาแล้วดำเนินการไกล่เกลี่ยสำเร็จให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและให้คู่พิพาทลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าว แต่ถ้าไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จก็ให้นำเรื่องกลับเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป
(5) การแต่งตั้งและคัดค้านอนุญาโตตุลาการ
(5.1) การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ (Appointment of arbitrator)
ให้มีอนุญาโตตุลาการ 3 คนเป็นผู้ชี้ขาด ประกอบด้วย บุคคลที่คณะกรรมการสมาคมเลือกจากบัญชีรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสมาคมทำหน้าที่เป็นประธาน จำนวน 1 คน และบุคคลซึ่งคู่พิพาทแต่งตั้งอีกฝ่ายละ 1 คน ซึ่งจะมาจากบัญชีรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสมาคมหรือไม่ก็ได้
(5.2) การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ (Challenge of arbitrator)
คู่พิพาทอาจยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการได้ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยในความเป็นอิสระหรือความเป็นกลาง ภายใน 15 วันนับแต่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุนั้น แต่ต้องก่อนวันที่อนุญาโตตุลาการสั่งปิดการพิจารณา
(6) การพิจารณา
คณะอนุญาโตตุลาการต้องทำคำชี้ขาด (Award) ให้เสร็จ ภายใน 180 วันนับแต่วันที่แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนสุดท้าย เว้นแต่คู่พิพาทจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น
(7) ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่าย
ให้คู่พิพาทชำระ ดังนี้
(6.1) ค่าธรรมเนียม ในอัตรา 1% ของทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
(6.2) ค่าตอบแทนอนุญาโตตุลาการ ใช้อัตราผันแปรตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ดังนี้
ไม่เกิน 500,000 บาท อัตรา 2.5% แต่ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
500,001 บาท – 1,000,000 บาท อัตรา 2.0% แต่ไม่ต่ำกว่า 12,500 บาท
1,000,001 บาท – 5,000,000 บาท อัตรา 1.5% แต่ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
5,000,001 บาท – 10,000,000 บาท อัตรา 1.0% แต่ไม่ต่ำกว่า 75,000 บาท
10,000,001 บาท – 50,000,000 บาท อัตรา 0.5% แต่ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท
มากกว่า 50,000, 000 บาท อัตรา 250,000 บาท
อนึ่ง ในการคำนวณ ถ้าคำนวณได้เป็นเศษให้ปัดเศษขึ้นจนเต็มจำนวน
(8) การวางเงินประกัน
ให้คู่พิพาทวางเงินประกันค่าธรรมเนียมและค่าตอบแทนอนุญาโตตุลาการตามจำนวนที่คณะกรรมการสมาคมกำหนด ภายใน 15 วันนับแต่สมาคมแต่งตั้งประธานคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ คณะอนุญาโตตุลาการอาจเรียกให้คู่พิพาทวางเงินประกันเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
(9) การขอยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ไม่ว่าเวลาใดๆนับแต่วันเสนอข้อพิพาทจนถึงก่อนคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร่วมกัน อาจยื่นคำร้องขอให้ยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้ โดยผู้ยื่นคำร้องมีหน้าที่ชำระค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หรือในกรณีที่คู่พิพาทร่วมกันคำร้องให้กำหนดผู้ที่มีหน้าที่ชำระค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายมาด้วย
(10) การบังคับตามคำชี้ขาด
การบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะโดยอนุญาโตตุลาการขององค์กรใด ก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางศาล เพื่อขอให้ศาลดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาด ซึ่งโดยปกติศาลก็จะไต่สวนว่ามีการทำคำชี้ขาดกันจริงและถูกต้องหรือไม่ และเปิดโอกาสให้คัดค้านได้เฉพาะเหตุตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากศาลเห็นว่าคำคัดค้านฟังไม่ขึ้นและมีการทำคำชี้ขาดกันจริง ศาลก็จะพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้น โดยไม่ได้เข้าไปวินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ชี้ขาด
3. แผนผังกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
4. ทะเบียนรายชื่ออนุญาโตตุลาการ
5. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
- ประกาศคณะกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เรื่อง การอนุญาโตตุลาการ
6. แบบฟอร์ม
- คำร้องเสนอข้อพิพาท (ข้อ 4)
- หนังสือแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณา (ข้อ 4 วรรค 2)
- หนังสือตั้งอนุญาโตตุลาการ (ข้อ 6)
- คำคัดค้านข้อพิพาท (ข้อ 6)
- หนังสือคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการ (ข้อ 10)
- สัญญาหรือข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ (ข้อ 12)